ประเด็นร้อน
ส่งฟ้องคดีเงินทอนรายวัดมิ.ย.หลักฐานฟอกเงิน - ฮุบทรัพย์สิน
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 15,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
สรุปพฤติกรรมคดีเงินทอน 3 วัดชื่อดังในกรุงเทพฯ พบผู้ต้องหาพระฟอกเงิน ไม่โอนเงินกลับ พศ. แปลงทรัพย์สิน ถ่ายเท ให้ฆราวาส อดีตพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศฮุบเงินเองกว่า 50 ล้านบาท ส่วนวัดสามพระยา อดีต พระพรหมดิลก โอนโฉนดที่ดินวัดเป็นของตนเอง ด้านสำนวนคดีคาดส่งฟ้องเป็นรายวัดก่อนสิ้นเดือนนี้
ความคืบหน้าของสำนวนคดีทั้ง 3 วัด ทางพนักงานสอบสวนกำลังเร่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ คาดว่าจะสรุปสำนวนเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และจะทยอยส่งฟ้องเป็นรายวัด ทั้งนี้ ในส่วนของ วัดสามพระยากับวัดสัมพันธวงศ์ จะสรุปสำนวนเสร็จก่อน เหลือเพียงวัดสระเกศ ที่มีข้อมูลหลักฐานจำนวนมาก คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าวัดอื่น ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนยังคงต้องคัดค้านการประกันตัว ผู้ต้องหาทั้งหมดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การขยายผลคดีเงินทอนวัด ล็อตที่ 4 โดยเฉพาะกับ 3 วัดชื่อดังในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสามพระยาวรวิหาร พบรูปแบบและพฤติการณ์ในการกระทำที่แตกต่างไป จากคดีเงินทอนวัดในครั้งที่ผ่านมา
โดยเฉพาะกรณีวัดสระเกศวรมหาวิหาร ที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนมีหลักฐานชัดเจนถึง การทุจริตที่เข้าข่ายการฟอกเงิน โดยวัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดย พศ. สั่งจ่ายเป็นเช็ค เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 หลังจากเสนอของบทำโครงการเงินอุดหนุนอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนฯ ครั้งที่ 2 วัดสระเกศฯ ได้รับงบประมาณ จำนวน 32.5 ล้านบาท โดย พศ. โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2559 จากที่วัดเสนอโครงการอุดหนุนศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา
สำหรับรายละเอียดของโครงการ ถูกระบุในเอกสารว่า ทั้ง 2 โครงการ เป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานด้านการเผยแผ่ศาสนา กับวัดสาขา 13 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดกลับพบว่า มีวัดจำนวน 9 แห่ง ไม่ได้รับ งบประมาณตามที่ระบุไว้ ประกอบด้วย 1.วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎ์ธานี 2.วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี 3.วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ 4.วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม 5.วัดอัมพวัน จ.ยโสธร 6.วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ 7.วัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 8.วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร และวัดอีกแห่งใน จ.สงขลา
ส่วนวัดที่เหลืออีก 4 คือ 1.วัดหลวงพ่อสด จ.ราชบุรี 2.วัดพระธาตุ ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ 3.วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี และ 4.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับงบประมาณแห่งละ 2 ล้านบาท รวม 8 ล้านบาท โดยยังพบว่า งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ได้ยักย้ายถ่ายเทไปยังบัญชีของ นางสาวนุชรา สิทธินอก อายุ 32 ปี แม่บ้านของนางฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา อายุ 50 ปี อดีตเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดีดีทวีคูณ ซึ่งเป็นสีกาคนสนิทของอดีตพระพรหมสิทธิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีต พระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาส วัดสระเกศ ให้การว่า สาเหตุที่โอนเงินไปยังบัญชีของนางสาวนุชรา เพราะนางฑัมม์พร แนะนำว่าเป็นวิธีหนึ่งในการเลี่ยงภาษี แต่เมื่อทีมพนักงานสืบสวนร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) ตรวจสอบแล้วกลับพบว่า เงินกว่า 50 ล้านบาท ส่วนมากถูกนำไปในกิจการส่วนตัว ทั้งที่เงินจำนวนนี้ควรถูกจัดส่งไปยังวัด 9 แห่ง เพื่อให้พระภิกษุ และสามเณรในต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่เสนอโครงการสนับสนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ซึ่งเป็นเงินค่าใช้จ่าย 26,000 บาทต่อรูป รวมทั้ง 2 โครงการเป็นเงิน 62.5 ล้านบาท
รูปแบบของการทุจริตที่แตกต่างคดีเงินทอนวัดครั้งก่อนๆ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ พศ.จะเป็นฝ่ายเสนองบประมาณให้วัดไปทำโครงการต่างๆ ก่อนที่เงินจากงบประมาณกว่า 80% จะถูกโอนคืนกลับไปให้ข้าราชการใน พศ. ทำให้พระในบางวัดกลายเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด ตำรวจจึงไม่ได้ดำเนินคดีกับพระ พร้อมกันไว้เป็นพยานเพราะถือว่าไม่มีเจตนา แต่กรณีวัดชื่อดังในกรุงเทพฯ ทั้ง 3 แห่งนั้น พระไม่ได้โอนเงินกลับไปยังเจ้าหน้าที่ พศ. แต่โอนเข้าบัญชีฆราวาส บัญชีตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของการฟอกเงิน ซึ่งตัวพระเป็นผู้ที่กระทำทุจริตด้วยตัวเองจึงมีการดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงินเพิ่มเติม
ส่วนกรณีวัดสามพระยา คณะพนักงานสอบสวนพบข้อมูลเพิ่มเติม เป็นโฉนดที่ดินหลายแปลงที่ปรากฏชื่อของอดีตพระพรหมดิลก อดีต เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงิน เป็นผู้ถือครอง โดยหนึ่งในนั้นมีที่ดินใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หรือวัดหลวงพี่แซม เป็นที่น่าสงสัยเนื่องจากตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาจากสีการายหนึ่งที่บริจาคให้แก่วัดสามพระยา เมื่อปี 2538 ขณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็น เจ้าอาวาส หลังจากมรณภาพ อดีตพระพรหมดิลกได้เป็นเจ้าอาวาสก็มีการ ไปทำเรื่องโอนโฉนดมาเป็นชื่อของตัวเอง โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งถึงที่มาของการโอนชื่อที่ดินแปลงดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
ส่วนความคืบหน้าการติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธีนั้น แหล่งข่าวยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ทางการประเทศเยอรมนียังไม่มีคำตอบกลับมาว่า จะส่งมอบตัวอดีตพระพรหมเมธีให้แก่ตำรวจไทยหรือไม่ หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. นำคณะเดินทางไปประสานงานกับตำรวจสากลที่ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ใช้ช่องทางตำรวจสากลในการติดต่อกับตำรวจเยอรมันเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหารายนี้กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน